เลขที่ 20 60360012 นายพรชัย ทับทิม


การวิพากษ์วรรณกรรม ประกอบรายวิชา 001222 ภาษา สังคม และวัฒนธรรม
โดย นาย พรชัย ทับทิม
รหัสประจำตัว 60360012
คณะ วิศวกรรมศาสตร์(เครื่องกล)

ชื่อวรรณกรรม            อยู่กับก๋ง
แต่งโดย                    หยก บูรพา  (เฉลิมศักดิ์ รงคผลิน)
แปลโดย (ถ้ามี)           -
พิมพ์ครั้งที่                 2
สำนักพิมพ์                 ประพันธ์สาส์น
ปีที่พิมพ์                   2520
จำนวนหน้า                416

เนื้อหาโดยย่อ
           บ้านสวน พ.ศ.2548 หยก ชายชราวัย 60 ปี ประสบความสำเร็จในอาชีพนักเขียนของตน มีผลงานตีพิมพ์มากมาย ทุกวันนี้เขาอาศัยอยู่กับครอบครัวใหญ่ มีลูกหลานมากมาย เมื่อมองภาพครอบครัวที่อบอุ่นอย่างทุกวันนี้ หยกมักจะย้อนคิดถึงวัยเด็กที่มีเพียงเขาและก๋ง ทุกครั้งก๋ง ชายชราชาวจีนที่อพยพเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลก ก๋งเป็นช่างฝีมือประกอบอาชีพหลักคืองานซ่อมเซรามิคอันเป็นวิชาที่ติดตัวมาจากเมืองจีน ความคิดอ่านที่กว้างไกลและความเมตตาของก๋ง ทำให้ก๋งได้รับการนับหน้าถือตาจากผู้คนมากมายในชุมชนห้องแถวที่อาศัยอยู่ ซึ่งผลบุญนี้ได้ตกมาถึงหยกเด็กกำพร้าที่ก๋งได้อุปการะไว้ หยกเติบโตอย่างอบอุ่นภายใต้การเลี้ยงดูของก๋ง แต่เขาก็ยังรู้สึกถึงความไม่สมบูรณ์ของตัวเอง หยกมักสงสัยว่าทำไมตนจึงไม่มีพ่อแม่เหมือนคนอื่น จนวันหนึ่งหยกได้พบเห็นเด็กกำพร้าที่ถูกเอามาวางทิ้งไว้ หยกจึงได้เข้าใจว่าโลกนี้ยังมีเด็กโชคร้ายอีกหลายคนและเพื่อนเขาบางคนเช่น ป้อม ลูกชายของ คุณนายทองห่อ กับคุณปลัด ที่แม้จะมีพ่อแม่พร้อมหน้า แต่หยกไม่ได้รู้ความจริงเลยว่าภายใต้รอยยิ้มนั้นมีแต่การปั้นหน้าใส่กัน หยกจึงเข้าใจว่าแท้จริงแล้วการที่เขามีก๋งคอยให้ความรักกับเขาอย่างแท้จริงต่างหากที่ทำให้เขาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แล้ว ชุมชนห้องแถวที่ก๋งและหยกอาศัยอยู่เป็นแหล่งรวมคนจีนมากหน้า เพื่อนบ้านที่สนิทกันอยู่ก็คือ เง็กจู ซึ่งเป็นคนที่ยึดติดกับธรรมเนียมจีนอย่างเหนียวแน่นและไม่ค่อยยอมรับความเปลี่ยนแปลง เง็กจูมีลูกชายคือเพ้งและลูกสาวคือเกียวหลายครั้งที่เง็กจูมีปัญหากับลูก ก๋งจะเป็นคนคอยแก้ปัญหาให้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เกียวแหกประเพณีเดิมของผู้หญิงจีน หนีไปเรียนภาคค่ำหรือตอนที่เพ้งรับนวลภรรยาคนไทยเข้าบ้านจนเง็กจูขู่จะฆ่าตัวตาย ก๋งเป็นคนชี้ทางสว่างให้เง็กจูเห็นและยอมปรับทัศนคติเพื่ออยู่ร่วมกับลูกหลานในโลกปัจจุบันให้ได้ หรือแม้แต่คนไทยบางคนที่มาเช่าบ้านอยู่ในชุมชนจีนนี้ ก๋งก็เป็นคนจีนคนเดียวที่ยื่นมือให้ความช่วยเหลือ ขณะที่คนจีนคนอื่น ๆ ตั้งแง่รังเกียจ ไม่ว่าจะเป็นสมพรหญิงสาวผู้โชคร้ายที่หนีออกมาจากซ่องโสเภณี แฉล้มและไพศาลคู่ผัวเมียที่ตกเป็นทาสการพนัน และหาญกับจำเรียงหนุ่มสาวที่วิวาห์เหาะมาจากกรุงเทพฯ ชุมชนห้องแถว พ.ศ.2548 หยก กลับไปเยี่ยมชุมชนห้องแถวอีกครั้ง เขาเพ่งมองภาพถ่ายขาวดำของงานวันแซยิดในห้องแถวหลังเก่าของตัวเอง เรื่องราวเก่าๆ ยังคงฉายชัดอยู่ในความทรงจำของเขา แม้ว่าวันนี้ชุมชนห้องแถวจะเปลี่ยนแปลงและเจริญขึ้นมากกว่าวันก่อนแล้วก็ตาม หน้าห้องแถวห้องหนึ่ง เด็กชายคนหนึ่งนอนอ่าน
หนังสือให้อากงของตัวเองฟัง หยกนึกถึงภาพตัวเองกับก๋งในวัยเด็ก และยิ้มออกมาเมื่อเห็นชื่อหนังสือ อยู่กับก๋ง บนหน้าปก หยกเหม่อมองท้องฟ้าราวกับจะมองหาก๋ง อยากให้ก๋งได้เห็นว่าวันนี้ เขาได้ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับก๋งแล้ว

คุณค่าของวรรณกรรมที่ได้อ่าน
          อยู่กับก๋ง เป็นนวนิยายที่ให้เราได้ศึกษาประวัติศาสตร์ และความเป็นไปของสังคม การแต่งกาย วัฒนธรรม สภาพบ้านเมืองในสมัยก่อนรวมถึงยังให้อคิดในการดำรงชีวิตในทางดีงาม เมื่ออ่านแล้วให้ความรู้สึกว่า มีพ่อแม่ผู้ปกครองคอยอบรมสั่งสอนอยู่ใกล้ๆ รู้สึกอบอุ่น และเป็นนวนิยายที่ให้คำสอนจากชีวิตจริงของคนเขียน ผ่านตัวละครที่มีอยู่ในเรื่อง ทำให้เราสามารถนำคำสอนเหล่านั้นมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้

บริบททางสังคมและวัฒนธรรมจากการอ่าน
“อยู่กับก๋ง” ได้ให้ภาพสะท้อนของชีวิตมนุษย์จริง ๆในสังคม ไม่ได้มีลักษณะของการสร้างขึ้นจากจินตนาการของคนเขียนเอง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่านวนิยายเรื่องอยู่กับก๋งได้สะท้อนภาพสังคมในแง่ของการถ่ายทอดชีวิตมนุษย์ และสะท้อนความตระหนักรู้ในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในสมัยนั้น ที่คนต่างเชื้อชาติกันอาศัยร่วมกันมีปัญหาทะเลาะกันบ้างเนื่องจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้